
หากคุณเป็นนักลงทุนที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นมานาน
คงคุ้นเคยกับคำว่า “เพิ่มทุน” ของบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างดี
แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่อาจยังไม่ทราบว่า...
บริษัทจะนำเงินเราไปทำอะไร? เราควรจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่?
หรือถ้าเพิ่มทุนแล้ว จะทำให้เงินเราโตขึ้นหรือไม่?
วันนี้เรามีเทคนิคหรือวิธีการคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจ
ว่าคุณควรซื้อหุ้นเพิ่มทุน หรือไม่ควรมาให้ทราบกันครับ

ตัดสินใจยังไง ถ้าอยากซื้อหุ้นเพิ่มทุน
การเพิ่มทุน (Capital Increase)
การที่บริษัทออกหุ้นใหม่หรือที่เรียกว่า “หุ้นเพิ่มทุน” เพิ่มเติมจากหุ้นเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยบริษัทจะนำ “หุ้นเพิ่มทุน” ไปเสนอขายให้กับผู้ที่สนใจ เช่น ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ลงทุนสถาบัน หรือ ผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งสิทธิประโยชน์ของหุ้นเพิ่มทุนจะเหมือนกับหุ้นเดิมของบริษัททุกประการ

วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน
-นำไปขยายกิจการ เพื่อคาดหวังยอดขายเติบโตอาจส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้นในอนาคต
-นำไปใช้หนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลด
-นำไปล้างขาดทุนสะสม เพื่อให้บริษัทมีกำไรและสามารถจ่ายเงินปันผลได้
*ดังนั้น ในการเพิ่มทุนแต่ละครั้ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาว่า
บริษัทจะนำเงินเราไปทำอะไรที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น

นักลงทุนยังควรทราบว่า…
1.การซื้อหุ้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR (Excluding Rights) นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน หากอยากได้หุ้นเพิ่มทุน ต้องซื้อหุ้น ก่อนวัน XR
2.การเพิ่มทุนทำให้ จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น และราคาหุ้นลดลง หรือที่เรียกว่า “Dilution Effect" นั่นเอง
ตัวอย่าง บริษัท A ประกาศเพิ่มทุนในอัตราส่วน 1:2 คือ 1 หุ้นเดิมเท่ากับ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นใหม่ 80 บาทต่อหุ้น หากผู้ถือหุ้นเดิมถือหุ้นอยู่ 100 หุ้น ราคาปิดก่อนวันขึ้น XR ราคาหุ้นละ 100 บาท
ผู้ถือหุ้นเดิมจะมีสิทธิซื้อหุ้นใหม่ของบริษัท A ได้จำนวน 200 หุ้น ซึ่งเท่ากับ 16,000 บาท
**สูตร
ราคาตลาดหลังเพิ่มทุน = [(อัตราหุ้นเดิม x ราคาก่อนวัน XR) + (อัตราหุ้นเพิ่มทุน x ราคาสิทธิ)] /(จำนวนหุ้นเดิม + จำนวนหุ้นเพิ่มทุน)
= [(1 x 100) + (2 x 80)] / (2 + 1)
= 86.67 บาทต่อหุ้น
3.การเพิ่มทุนทำให้ กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) ลดลง เนื่องจากกำไรสุทธิเท่าเดิมแต่ตัวหาร คือ จำนวนหุ้น เพิ่มมากขึ้น ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง

ลงทุนควรตัดสินใจหรือควรทำอย่างไร?
1.ถามตัวเองก่อนตัดสินใจ พยายามตอบให้ได้ทุกคำถามว่า
-การเพิ่มทุนของบริษัทเป็นการรบกวนเงินในกระเป๋าของคุณหรือไม่?
-ถ้าราคาตกจะทำอย่างไร ขายทิ้ง หรือ ยังรอ ให้ขึ้นได้?
2.ตรวจสอบวัตถุประสงค์การเพิ่มทุนให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ
3.ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท
-ว่าคืบหน้ามากน้อย เพียงใด กิจการเจริญเติบโตขึ้นหรือไม่หากบริษัทไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ก็เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่ต้องตัดสินใจว่าจะถือหุ้นของบริษัทนี้ต่อหรือขาย
ฝากทิ้งท้ายสำหรับนักลงทุนที่มองว่า...
“การเพิ่มทุน” เป็น “ภาระของผู้ถือหุ้น”
อยากให้มองทุกอย่างให้รอบคอบเสียก่อน
เพราะบางครั้งการเพิ่มทุนอาจทำให้บริษัทได้กำไรมากกว่าเดิม